วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง กับอีกหนึ่งบทบาทเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.การค้างาช้างฯ


กมธ. ร่าง พ.ร.บ. ค้างาช้าง เลือก “พิไลพรรณ” นั่งประธาน

โดย ClickNLA
Seized shipment of illegal African elephant tusks, Thailand © James Morgan
คณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ. การค้างาช้าง พ.ศ. …. เลือกนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมเร่งผลักดันให้เป็นกฎหมาย เพื่อมิให้ต่างชาติใช้เป็นช่องทางการค้างาช้าง โดยกำหนดบทลงโทษหนักติดคุก หรือปรับนับล้านบาท

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๕๗ อาคารรัฐสภา ๒ ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ. การค้างาช้าง พ.ศ. …. โดยมี นายสถิตย์ สวินทร เป็นประธานชั่วคราว เพื่อเลือกประธานฯ รองประธานฯ และกำหนดกรอบการทำงาน โดยที่ประชุมมีมติแต่งตั้งตำแหน่งในคณะกรรมาธิการฯ ดังนี้
๑.     นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมาธิการฯ
๒.     นายสถิตย์ สวินทร รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่หนึ่ง
๓.     พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สอง
๔.     พลตำรวจเอก เอก อังสนานนท์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ คนที่สาม
๕.     ศาสตราจารย์สนิท อักษรแก้ว โฆษกคณะกรรมาธิการฯ
๖.     นายประมุท สูตะบุตร ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ
๗.     นางเตือนใจ นุชดำรง เลขานุการคณะกรรมาธิการฯ
๘.     นางสาวพรทิพพา เจริญผล ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการฯ
นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ควบคู่กันไป เนื่องจากร่าง พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน โดยจะพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน ซึ่งเหตุผลที่สำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ ประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมการค้าการครอบครองงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า แต่ยังไม่มีกฎหมายควบคุมการค้าและการครอบครองงาช้าง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์พาหนะ จึงมีการนำช้างป่ามาสวมสิทธิและจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะเพื่อตัดงาช้าง รวมถึงลักลอบนำเข้างาช้างจากแอฟริกาผ่านประเทศไทยและส่งออกไปประเทศอื่น จึงต้องมีการนำวิวัฒนาการสมัยใหม่มาใช้ในการตรวจดีเอ็นเอเพื่อแยกประเภทช้าง ป่ากับช้างบ้าน ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน

ขอบคุณ ข่าวจาก www.click.senate.go.th

สนช. มีมติวาระ3 ให้ร่างพระราชบัญญัติการค้างาช้าง ประกาศใช้เป็นกฎหมาย

โดย เรณู เขมาปัญญา |ข่าวรัฐสภา | 21 พฤศจิกายน 2557 เวลา 16:21 น.
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติวาระ3 ให้ร่างพระราชบัญญัติการค้างาช้าง พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย พร้อมเพิ่มโทษผู้ค้างาช้างผิดกฎหมาย ให้จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000,000  หรือทั้งจำทั้งปรับ
                ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติวาระ3 ให้ร่างพระราชบัญญัติการค้างาช้าง พ.ศ. ... ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 169 ไม่เห็นด้วย ไม่มี  งดออกเสียง   4
                ร่างพระราชบัญญัติการค้างาช้าง มีทั้งหมด 21 มาตรา โดยในวาระ2 การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ ได้มีการแก้ไขในหลายส่วน  โดยเฉพาะได้มีการ แก้ไขเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดฝ่าฝืนพระราชบัญญัติในการค้างาช้าง นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านงาช้าง จากเดิมที่ให้จำคุกไม่เกิน 1  ปี หรือปรับไม่เกิน 2,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  เป็น  ให้จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  เพื่อให้สัมพันธ์และสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า  ในการป้องกันการนำช้างป่ามาสวมสิทธิจดทะเบียนเป็นสัตว์พาหนะ  และเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมาย   ซึ่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้อภิปรายในประเด็นบทกำหนดโทษว่า การกำหนดโทษกับผู้กระทำผิดในบางมาตรายังขาดความเหมาะสม  อีกทั้งในหลายมาตราที่เป็นบทกำหนดโทษ ยังมีความขัดแย้งกันเอง    อย่างไรก็ตาม  คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขโดยปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมการขอใบอนุญาตให้นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่านงาช้าง จากเดิมที่ฉบับละ 5,000 บาท  เป็น ฉบับละ 50,000 บาท  ตามที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเสนอ  เพื่อให้สอดคล้องกับการขอใบอนุญาตให้ค้างาช้าง ที่ฉบับละ 50,000 บาท  เช่นกัน  ซึ่งชี้ให้เห็นว่าไทยไม่สนับสนุนการค้างาช้าง และกีดกันการค้างาช้าง
                  ทั้งนี้  คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังได้ตั้งข้อสังเกตโดยเสนอต่อที่ประชุมฯ  ให้แก้ไขชื่อร่างพระราชบัญญัติเป็น ร่างพระราชบัญญัติงาช้าง พ.ศ. .... เพื่อให้มีความหมายที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น และเพื่อเป็นการสอดรับกับขอบเขตการใช้บังคับของกฎหมายที่มิได้ควบคุมเพียง เฉพาะการค้างาช้างเท่านั้น  แต่จะครอบคลุมถึงการครอบครอง การนำเข้า การส่งออก และการดำเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับงาช้าง   ขณะเดียวกันได้เสนอให้แก้ไขหลักการและเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้หมายรวมถึงการควบคุมการค้า การครอบครอง การนำเข้า การส่งออก และการนำผ่านซึ่งงาช้างและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากงาช้างตามกฎหมายว่าด้วยสัตว์ พาหนะ และผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากการแปรรูปงาช้างภายในประเทศไม่ให้ปะปนกับงาช้างที่ ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิด สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES)   พร้อมทั้งเสนอปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการออกตัวรูปพรรณใหม่ โดยใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยให้กรมการปกครองต้องกำหนดให้จ้าของช้างที่เป็นสัตว์พาหนะลงรหัสพันธุกรรม ช้าง (DNA) ของช้างแต่ละเชือกลงในตัวรูปพรรณช้างรูปแบบใหม่และสมควรออกตัวรูปพรรณช้าง พาหนะรูปแบบให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2558 เพื่อป้องกันการสวมตัวรูปพรรณช้างที่เป็นสัตว์พาหนะ และช้างป่า ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง   ซึ่งที่ประชุมฯ มีมติเห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จะนำเสนอข้อสังเกตดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการต่อไป


ขอบคุณ ภาพและข่าวจาก ข่าวรัฐสภา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น