วันอังคารที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2554

พัฒนาสวนป่าคลองตะเกราเป็นที่อยู่ช้างถาวร | MCOT.net

พัฒนาสวนป่าคลองตะเกราเป็นที่อยู่ช้างถาวร | MCOT.net

by TNA | 8 มี.ค. 2554 20:29

ก.ทรัพยากรฯ 8 มี.ค. - ก.ทรัพยากรฯ ร่วมกับมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ใช้พื้นที่สวนป่าคลองตะเกรา จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่อยู่อาศัยของช้างเร่ร่อน คาดช่วยลดปัญหาช้างไร้ที่อยู่ และช่วยอนุรักษ์ช้างไทย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ลงนามข้อตกลง “โครงการที่อยู่ถาวรช้างไทย” โดยจะใช้สวนป่าคลองตะเกรา จ.ฉะเชิงเทรา พื้นที่ประมาณ 5,600 ไร่ เป็นที่อยู่อาศัยของช้างเร่ร่อน ช้างชรา และช้างพิการ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ มีอาหารเพียงพอ และมีแหล่งน้ำที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของช้าง เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาช้างไร้ที่อยู่อาศัย และเตรียมพัฒนาเป็นศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยอนุรักษ์ช้างไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. - สำนักข่าวไทย

ทส. โดย อ.อ.ป. ร่วมกับ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง สร้างที่อยู่ถาวรให้ช้างไทย

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทย บนพื้นที่สวนป่าคลองตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๕,๖๐๐ ไร่

    เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๕๔ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำโครงการที่อยู่ ถาวรของช้างไทย ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง โดยมี นายอำนาจ ขัมภลิขิต รักษาการแทนผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กับ นางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง เป็นผู้ลงนามจัดทำโครงการฯ และ นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นผู้สนับสนุนการจัดทำโครงการฯ นอกจากนี้มีนายวิสูตร กาญจนปัญญาพงศ์ รองประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง เป็นสักขีพยาน ในบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ด้วย
  บันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทยครั้งนี้ เนื่องจากปัญหาช้างเลี้ยง ที่เข้ามาเร่ร่อนในเมืองเป็นปัญหาที่เรื้อรัง ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศ และช้างเลี้ยงถูกนำมาใช้งาน อย่างไม่เหมาะสม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องหาแนวทางการแก้ไข และสร้างมาตรการในการป้องกันร่วมกัน ทั้งภาครัฐและเอกชน กอปรกับขณะนี้ กระทรวงฯ ได้กำหนดนโยบายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ปรับ เพิ่มบทบาทการดำเนินงานทางด้านการอนุรักษ์และบริบาลช้างไทยให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น โดยเน้นการใช้ประโยชน์พื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจเพื่อการอนุรักษ์ช้างเลี้ยง ให้เกิดความยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง
    โอกาสนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) จึงร่วมมือกับ มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง จัดทำโครงการ ที่อยู่ถาวรของช้างไทย (Elephant Sanctuary) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์ช้างให้เกิดความยั่งยืน และทำให้ช้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
   สำหรับพื้นที่ในการใช้ดำเนินการโครงการ ที่อยู่ถาวรของช้างไทย (Elephant Sanctuary) เบื้องต้น อ.อ.ป. ได้จัดสรรพื้นที่สวนป่าเศรษฐกิจ “สวนป่าคลองตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา” จำนวน ๕,๖๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการฯ เนื่องจากเป็นสวนป่าที่มีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน ที่สามารถจะพัฒนา ไปสู่สวนป่าเศรษฐกิจ เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ได้อย่างยั่งยืน
   ด้านความร่วมมือในการจัดทำโครงการที่อยู่ถาวรของช้างไทยครั้งนี้ โดย อ.อ.ป. จัดให้มีสถานที่ที่ เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงดูช้าง เมื่อมีการรับมอบช้างมาดูแล ซึ่งรวมถึงช้างป่วย ช้างพิการ และช้างชรา โดยโครงการนี้ จะเป็นโครงการต้นแบบของการเลี้ยงและจัดการสวัสดิภาพให้กับช้างและควาญอย่างมีมาตรฐาน รวมถึงส่งเสริมให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยทางวิชาการเกี่ยวกับช้างและการอนุรักษ์ผืนป่าและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเสริมสร้าง คุณภาพชีวิตให้กับชุมชนท้องถิ่นให้อยู่ร่วมกันกับช้างอย่างยั่งยืน และสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีทางด้านท่องเที่ยวให้กับประเทศอีกด้วย   ส่วนมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง จะเป็นผู้สนับสนุนโครงการฯ ทั้งในด้านการจัดหาอาหารให้กับช้างได้กิน อย่างเพียงพอ  การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โครงการฯ จัดหาทุนดำเนินการให้แก่โครงการ ตลอดจนการสนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับช้าง เพื่อร่วมทำโครงการฯ ให้บรรลุวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการฯ นี้




ที่มาภาพและข่าว: สำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 9 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น