วันอาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2551

พระกรุณาธิคุณต่อช้างไทยของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

By Monarchians (Own work) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0) or GFDL (http://www.gnu.org/copyleft/fdl.html)], via Wikimedia Commons

คอลัมน์: ต้นซอยวิภาฯ 38  "สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงมีพระกรุณาธิคุณต่อช้างไทย" ตอนที่ 1 และ 2
โดย ผศ.ทวีเกียรติ ไชยยงยศ
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง| เสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2551 09:30:45 น. และ อาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2551 11:05:38 น.

ท่ามกลางที่ประชาชนชาวไทย กำลังมีความสุขในโอกาสที่วันปีใหม่ 2551 มาเยือน แต่พลันประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ ต้องร่ำไห้เศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้งเมื่อสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 2 นาฬิกา 54 นาที วันพุธที่ 2 มกราคม 2551 ด้วยพระชันษา 84 ปี

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เสด็จประทับรักษาพระอาการประชวร ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2550 พสกนิกรชาวไทยทั้งปวงต่างอัดอั้นหวั่นเกรงเมื่อได้ยินแถลงการณ์สำนัก พระราชวัง ถึงอาการประชวรของพระองค์ท่านมาเป็นลำดับ ได้แต่ภาวนาให้พระองค์ท่านหายประชวรโดยเร็ว สุดท้ายพระองค์ต้องเสด็จสู่สวรรคาลัยในที่สุด ยังความเศร้าโศกมาสู่พสกนิกรชาวไทย เสียงร่ำไห้ของคนไทยดังระงมไปทั่วแผ่นดิน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเป็นที่รักยิ่งของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและของประชาชนชาวไทย ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม 2466 เป็นพระธิดาองค์แรก ในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์) และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (หม่อมสังวาลย์ มหิดล) หรือสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย เมื่อแรกประสูติทรงพระนามในสูติบัตรว่า “เมย์” ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนามว่า “หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา”

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเป็นเชษฐภคินีของพระมหากษัตริย์ถึง 2 พระองค์ คือพระบาทสมเด็จพระปรเมนทร มหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) พระองค์มีพระธิดาคนเดียวคือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม พระองค์ยังทรงเป็นสมเด็จยายของพระนัดดา คือ ร้อยเอกจิทัศ ศรสงคราม อีกด้วย

ตลอดพระชนมายุ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงมีพระกรณียกิจ อุทิศพระองค์เพื่อปวงชนชาวไทยหลายแขนง เช่น ทรงเป็นพระอาจารย์ ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่นิสิตนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัย ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่ไม่ขาดตั้งแต่สมัยที่ สมเด็จย่ายังทรงมีพระชนม์อยู่ แม้เมื่อสมเด็จย่าสิ้นพระชนม์แล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงรับภาระออกเยี่ยมเยียนราษฎร์แทนตลอดมา นับเป็นการแบ่งเบาพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก นอกจากนั้น ยังทรงรับหน่วยงานต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นจำนวนถึง 63 แห่ง นับเป็นพระกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ ซึ่งน้อยคนนักจะทำได้ ในที่นี้ไม่เว้นแม้กระทั่งองค์การที่ทำงานอนุรักษ์ช้างไทย คือ สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สังกัดองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

น้อยนักที่จะมีคนทราบว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงรักและห่วงใยช้างไทยเป็นอย่างมาก ทรงมีพระดำรัสครั้งหนึ่งว่า ปีประสูติ คือ “ปีกุน” หมายถึง “ปีช้าง” ในความเชื่อของชาวเหนือ แต่เป็น “ปีหมู” ของชาวภาคกลาง

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงทราบถึงคุณประโยชน์และปัญหาของช้างไทยที่ใกล้สูญพันธ์อย่างลึกซึ้ง จึงทรงรับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ไว้ในพระอุปถัมภ์ ตามคำขอพระราชทานพระกรุณาธิคุณ ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 ในสมัยที่ นายชนัตร เลาหะวัฒนะ เป็นผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และทรงเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง ถึง 5 ครั้ง ทรงรับช้างพังไว้ในพระอุปถัมภ์ถึง 3 เชือก และทรงรับช้างป่วยไว้ในพระอุปถัมภ์ อีก 1 เชือก ชื่อพังกรุงศรี ที่ถูกกับระเบิดขาขาด
การเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งแรก
เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2537 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เสด็จเยี่ยมลูกช้างพังยม (อายุ 1 ขวบ) และทรงรับลูกพังยมไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นเชือกแรก ทรงประทานชื่อลูกพังยมว่า “จุฑานันท์”

ซึ่งก่อนหน้านี้คนทั่วไปในสถาบันคชบาลตั้งชื่อว่า “พระธิดา” เพื่อรอการประทานชื่อ เมื่อทรงประทานชื่อแล้ว จึงต้องเรียกว่า “จุฑานันท์” ขณะนี้พังจุฑานันท์ เติบโตเป็นช้างสาวสวยอายุ 15 ปี มีนิสัยร่าเริง น่ารัก นิสัยดี
การเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 2
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2540 ซึ่งตรงกับวันประสูติ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ พอดี และช้างเลี้ยงของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ชื่อพังวังเจ้า ได้ตกลูกเพศเมีย ความทราบถึงพระองค์ท่าน จึงได้รับลูกช้างพังวังเจ้า ไว้ในพระอุปถัมภ์และได้เสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2540 ทรงเยี่ยมลูกช้างพังวังเจ้า และประทานนามว่า “วนาลี” แปลว่า ทางแนวป่า ปัจจุบันอายุ 11 ปี

การเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 3
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2542 ซึ่งเป็นวันช้างไทยพอดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง คราวนี้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของควาญช้าง พระองค์ทรงเห็นว่าอาชีพควาญช้างเป็นอาชีพที่หาคนทำยาก รายได้ก็น้อย คนที่มีอาชีพนี้ต้องรักจริงๆ ต้องเสียสละ ต้องทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด ทรงเห็นว่าควาญช้าง ควรได้รับความช่วยเหลือให้มีชีวิตที่พอเพียง จึงได้ประทานเงินให้จัดตั้ง “กองทุนสวัสดิการควาญช้าง” ขึ้น ในสถาบันคชบาลแห่งชาติ เพื่อให้ควาญช้าง และครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือในยามขาดแคลน เช่น การเจ็บป่วย การศึกษาเล่าเรียนของบุตรธิดา นับเป็นพระกรุณาธิคุณต่อพสกนิกร “ควาญช้างไทย” เป็นอย่างยิ่ง

การเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 4
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2545 เป็นปีสำคัญที่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 4 คราวนี้ทรงติดตามผลการเลี้ยงดูช้างในพระอุปถัมภ์ 2 เชือก คือ พัง “จุฑานันท์” และพัง “วนาลี” ทรงชื่นชมที่ช้างทั้ง 2 เชือก เจริญเติบโตแข็งแรง นิสัยดี ในการนี้ทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ขอพระกรุณารับสถาบันคชบาลแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ พระองค์ก็ทรงมีพระกรุณาธิคุณ รับสถาบันคชบาลแห่งชาติไว้ในพระอุปถัมภ์ เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 จากนั้นทรงตรัสถามการดำเนินงานของสถาบันอยู่เสมอและประทานเงินส่วนพระองค์ แก่สถาบันทุกๆ ปี

การเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ครั้งที่ 5
เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ได้เสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยเป็นครั้งที่ 5 ซึ่งนับเป็นครั้งสุดท้าย ครั้งนี้ทรงเสด็จเยี่ยมโรงพยาบาลช้างเป็นพิเศษด้วย พร้อมกันนั้นทรงรับลูกช้างเพศเมีย (ลูกพังพุ่มพวง) ไว้ในพระอุปถัมภ์ เป็นเชือกที่ 3 ทรงประทานชื่อว่า “อลีนา” แปลว่า “ว่องไว” พัง “อลีนา” เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม (2547) ซึ่งตรงกับวันประสูติของพระองค์พอดี

ในการเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในครั้งนี้ พระองค์ทรงสนพระทัยโรงพยาบาลช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์เป็นพิเศษ นายสัตวแพทย์สิทธิเดช มหาสาวังกุล ได้เล่าถึงพระกรุณาของพระองค์ท่านที่มีต่อช้างที่เจ็บป่วยว่า “ทรงห่วงใยและตรัสถามการดูแลรักษาช้างป่วยด้วยความสนพระทัย และทรงให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมากมาย ตลอดจนทรงประทานเงินส่วนพระองค์สนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลช้าง ที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง จำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) เป็นปฐมฤกษ์ เพื่อให้งานรักษาช้างป่วยดำเนินการได้โดยไม่ชักช้า ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล นอกจากทรงเสด็จเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยถึง 5 ครั้งแล้ว ยังทรงเสด็จเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ ที่คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ จัดประชุมนานาชาติเรื่องการดูแลสุขภาพช้างเอเชีย เมื่อ พ.ศ. 2542 ด้วย”

การที่เจ้านายแห่งราชวงศ์ชั้นสูง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงให้ความรักความห่วงใยต่อช้างไทย ตลอดถึงควาญช้าง นับเป็นแบบอย่างที่ดีที่พสกนิกรไทยควรจะให้ความสนใจ มูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์ สถาบันคชบาลแห่งชาติ และ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จึงได้ชักชวนศิลปินทั้งชาวไทย และศิลปินชาวต่างประเทศ ที่มีความสามารถ ความห่วงใย ในสภาพความเป็นอยู่ของช้างไทย ตามรอยพระบาทสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ  มาร่วมกันสร้างสรรค์ศิลปกรรม และนำผลงานออกแสดงต่อสาธารณชนมาแล้วรวมทั้งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 3 เพื่อหวังปลุกจิตสำนึกคนไทยให้ตระหนักถึงปัญหาของช้างไทยเป็นหลักใหญ่ และเพื่อนำรายได้ที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเพื่อช้าง บริจาคสมทบทุน “กองทุนศิลปินเพื่อช้าง” สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ ที่เหล่าศิลปินก่อตั้งขึ้นเพื่อนำเงินไปช่วยแก้ปัญหาของช้าง ไม่ว่าจะเป็น การรักษาช้างเจ็บป่วย สร้างหน่วยเคลื่อนที่เร็ว (หน่วยช่วยชีวิตช้างหน่วยที่ 2) ไปช่วยช้างที่เกิดเหตุร้ายเฉพาะหน้า ตลอดจนช่วยสวัสดิการควาญช้าง และอื่นๆ เป็นการสนองพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แม้พระองค์ได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้วด้วยความสำนึกในพระกรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น

บทความครั้งต่อไปผู้เขียนขอเสนอบทความเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปินเพื่อช้าง โปรดติดตามบทบาทของมูลนิธิอารี สุทธิพันธุ์ และศิลปินเพื่อช้างครับ

ขอบคุณข่าวจาก หนังสือพิมพ์บ้านเมือง เสาร์ที่ 18 ตุลาคม 2551 09:30:45 น. และ อาทิตย์ที่ 19 ตุลาคม 2551 11:05:38 น.