วันศุกร์ที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2552

พังพระธิดาจุฑานันท์ แท้งลูก

ลำปาง - ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ เกือบสูญเสียพังพระธิดาจุฑานันท์ ช้างวัย 15 ปี ช้างในสมเด็จพระพี่นางฯ ที่ตั้งท้องได้กว่า 18 เดือน และเตรียมคลอดภายในสัปดาห์นี้ เนื่องจากลูกเสียชีวิตในท้องวานนี้
โดย ASTV ผู้จัดการออนไลน์ | 14 สิงหาคม 2552 เวลา 14:16 น.   

    
       นายสัตวแพทย์ศรันต์ จันทร์สิทธิเวช สัตวแพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย เผยว่า เมื่อช่วงบ่ายวานนี้ (13 ส.ค.) ช้างพังพระธิดา ซึ่งเป็นช้างในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ อายุ 15 ปี ท้องได้ 18 เดือน และกำลังเตรียมคลอดลูก โดยทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้จัดเตรียมช้างพังทานตะวัน อายุ 17 ปี เคยมีลูกมาแล้ว 2 เชือก และเป็นแม่ช้างที่มีนิสัยดี ไว้คอยเป็นช้างแม่รับให้ พร้อมเตรียมคลอดภายในสัปดาห์นี้
    
       ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ เวลาประมาณ 15.00 น.เศษ พังพระธิดาได้คลอดลูกซึ่งมีน้ำหนักตัวประมาณ 60-70 กิโลกรัม ออกมาโดยทางทีมสัตว์แพทย์ได้ช่วยในการทำคลอดเนื่องจากพบว่าลูกที่อยู่ในท้อง ได้เสียชีวิตก่อนแล้วคาดว่าน่าจะเสียชีวิตได้ประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากพบว่าปอดของลูกช้างจมน้ำ ซึ่งทำให้การคลอดเป็นไปด้วยความยากลำบาก
    
       สัตวแพทย์ต้องฉีดยาป้องกันมดลูกของพังพระธิดาล้า เพราะต้องให้ลูกที่เสียชีวิตออกมา แต่ยังโชคดีที่แม่ช้างคือ พังพระธิดาปลอดภัย ขณะนี้ทางสัตว์แพทย์ได้ให้กลูโคส แคลเซียม ยาบำรุง และคอยดูแลเป็นอย่างดี

วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการช้างยิ้ม กรุงเทพมหานคร




มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ต้องการเห็นปัญหาช้างเร่ร่อนหมดไปจากสังคม จึงได้ร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการช้างยิ้ม เรามาดูกันว่า "โครงการช้างยิ้ม" มีความเป็นมาอย่างไร

ความเป็นมาของโครงการช้างยิ้ม

โดย โครงการช้างยิ้ม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคนิคการบูรณาการความร่วมมือแบบพหุภาคี จากผู้มีส่วนรับผิดชอบ (Stakeholder) ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และสื่อสารมวลชน เพื่อระดมสรรพกำลังในการวางแผนปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดผลในทางการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของช้างเร่ร่อน และควาญช้างอย่างยั่งยืน 
          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะปรับประยุกต์ใช้หลักการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) โดยการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ทางราชการมีมาตรการที่เด็ดขาด ในการจับ ปรับ ยึด เพื่อป้องกันการนำช้างเร่ร่อนมาหารายได้ในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งเกิดผลดีต่อการบริหารเมือง ในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจราจร และความปลอดภัยของประชาชน แต่ปรากฏว่าในข้อเท็จจริงมาตรการดังกล่าว กลายมาเป็นจุดคุกคามการมีชีวิตรอดของช้างและควาญช้าง เป็นวงจรเรื้อรังเป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดวิกฤตช้างไทย ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกื้อกูล ร่วมเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา และนำเข้าสู่การเป็นวาระแห่งชาติ
          กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ จึงได้เริ่มแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืนขึ้น มุ่งหวังให้เกิดระบบการทำงานที่ประสานเชื่อมโยงในการสร้างเครือข่ายปฏิบัติ การที่เข้มแข็ง เพื่อการสร้างสรรค์ผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประโยชน์แก่ช้างไทย ซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และเคยมีความสำคัญในด้านการเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ การดำรงอยู่ของสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของไทย และมีความผูกพันทางจิตใจระหว่างคนไทยกับช้างไทยเป็นอย่างมาก