วันพุธที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2552

เข้าร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการช้างยิ้ม กรุงเทพมหานคร




มูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ต้องการเห็นปัญหาช้างเร่ร่อนหมดไปจากสังคม จึงได้ร่วมเป็นเครือข่ายของโครงการช้างยิ้ม เรามาดูกันว่า "โครงการช้างยิ้ม" มีความเป็นมาอย่างไร

ความเป็นมาของโครงการช้างยิ้ม

โดย โครงการช้างยิ้ม

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคนิคการบูรณาการความร่วมมือแบบพหุภาคี จากผู้มีส่วนรับผิดชอบ (Stakeholder) ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน หน่วยงานราชการ และสื่อสารมวลชน เพื่อระดมสรรพกำลังในการวางแผนปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดผลในทางการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของช้างเร่ร่อน และควาญช้างอย่างยั่งยืน 
          ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร จะปรับประยุกต์ใช้หลักการวิเคราะห์ผลกระทบทางสังคม (Social Impact Assessment) โดยการลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการที่ทางราชการมีมาตรการที่เด็ดขาด ในการจับ ปรับ ยึด เพื่อป้องกันการนำช้างเร่ร่อนมาหารายได้ในเขตเมืองใหญ่ ซึ่งเกิดผลดีต่อการบริหารเมือง ในด้านความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจราจร และความปลอดภัยของประชาชน แต่ปรากฏว่าในข้อเท็จจริงมาตรการดังกล่าว กลายมาเป็นจุดคุกคามการมีชีวิตรอดของช้างและควาญช้าง เป็นวงจรเรื้อรังเป็นระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ก่อให้เกิดวิกฤตช้างไทย ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรจะต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเกื้อกูล ร่วมเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหา และนำเข้าสู่การเป็นวาระแห่งชาติ
          กรุงเทพมหานคร โดยสำนักเทศกิจ จึงได้เริ่มแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาช้างเร่ร่อนอย่างยั่งยืนขึ้น มุ่งหวังให้เกิดระบบการทำงานที่ประสานเชื่อมโยงในการสร้างเครือข่ายปฏิบัติ การที่เข้มแข็ง เพื่อการสร้างสรรค์ผลสัมฤทธิ์ให้เกิดประโยชน์แก่ช้างไทย ซึ่งเคยมีบทบาทอย่างสูงในประวัติศาสตร์การสร้างชาติ และเคยมีความสำคัญในด้านการเป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำชาติ การดำรงอยู่ของสังคมและวัฒนธรรมประเพณีของไทย และมีความผูกพันทางจิตใจระหว่างคนไทยกับช้างไทยเป็นอย่างมาก

“พังบัวคำ” ช้างตาบอดถูกส่งตัวเข้าศูนย์อนุรักษ์ช้างลำปางแล้ว

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ |11 สิงหาคม 2552 เวลา 11:33 น.

ลำปาง – “พังบัวคำ” ช้างตาบอดที่ได้รับจากการบริจาคผ่านโครงการ “ช้างยิ้ม” ของ กทม. เดินทางถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยแล้ว การตรวจสุขภาพเบื้องต้นแข็งแรง เตรียมส่งต่อเข้าศุนย์บริบาลช้าง ที่เปรียบเป็นบ้านพักหลังสุดท้ายสัปดาห์หน้า
 
       วันนี้ (11 ส.ค.) ช้างพังบัวคำ อายุประมาณ 30 ปี ของนางกรรมกร มาดี เป็นชาวจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นช้างตาบอดด้านขวา และได้ขายช้างให้กับกรุงเทพมหานคร ตามโครงการ “ช้างยิ้ม” เพื่อแก้ปัญหาช้างเร่ร่อนแบบยั่งยืนในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล เมื่อวันที่ 3 ก.ค.52 ที่ผ่านมา ได้ถูกส่งมาถึงศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง แล้ว
     
       หลังจาก ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ทำพิธีมอบช้างพังบัวคำ แก่สถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.ลำปาง เพื่อดูแลต่อไป ตั้งแต่ 10 ส.ค.52 ที่ผ่านมา
     
       โดยช้างพังบัวคำ พร้อมด้วยนายคำมั่น แสงจันทร์ ควาญช้างได้เดินทางด้วยรถบรรทุก กว่า 900 กิโลเมตร ถึงจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นบ้านหลังใหม่ เมื่อเที่ยงคืนเศษที่ผ่านมา ซึ่งระยะทางที่ห่างไกล และจากการกระเทือนของสภาพถนนทำให้ช้างเหนื่อยล้า ทางทีมสัตวแพทย์โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จึงให้พังบัวคำได้พักผ่อนช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายจากการเดินทาง
     
       จนกระทั่งเวลา 08.00 น.เศษ ทีมสัตวแพทย์นำโดยนายสัตวแพทย์ สิทธิเดช มหาสาวังกุล หัวหน้าฝ่ายโรงพยาบาลช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ได้ทำการตรวจร่างกาย และดวงตาของพังบัวคำพบว่าตาด้านขวาบอดสนิทไม่มีลูกตา คาดว่าน่าจะประสบอุบัติเหตุมากกว่าที่พิการมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนสุขภาพโดยรวมแข็งแรงแต่จะมีสภาพซูบผอมเล็กน้อย หลังจากนี้จะได้ทำการตรวจเลือด และพักผ่อนอยู่ ณ ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนที่จำนำตัวไปอยู่ ณ ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นเสมือนบ้านหลังสุดท้ายของช้างพังบัวคำ ซึ่งที่นั้นจะเป็นบ้านพักของช้างที่ปลดระวาง ช้างพิการ ช้างป่วย ใช้งานไม่ได้แล้วทั้งสิ้นประมาณ 25 เชือก ซึ่ง ณ ศูนย์บริบาลช้างแห่งนี้ มีเพียงแห่งเดียวของประเทศ ในแต่ละปีต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูช้างประมาณ 6 ล้านบาท
     
       สำหรับโครงการ “ช้างยิ้ม” นั้นกรุงเทพมหานคร ได้เปิดบัญชีธนาคารเพื่อรับบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาช่วยซื้อช้างพังบัว คำ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 77 พรรษา 12 สิงหาคม 2552

ขอบคุณ ข่าวและภาพจาก ASTV ผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น