วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ผู้ "ทำบุญ" ด้วย "ใจ"

พิไลพรรณ สมบัติศิริ มหาเศรษฐีใจบุญจาก"ฟอร์บส์" ผู้ยึดหลัก"ทำบุญ"ด้วยใจ

่าวจาก มติชน ออนไลน์ | 5 สิงหาคม 2554 เวลา 15:28:58 น.

เป็น "สตรีหนึ่งเดียว" ของประเทศไทยจากทั้งหมด 4 คน สำหรับ "พิไลพรรณ สมบัติศิริ" ที่ได้รับการ "ยกย่อง" จากเว็บไซต์ "นิตยสารฟอร์บส์" ของสหรัฐอเมริกา ในการจัดอันดับมหาเศรษฐีในเอเชีย 48 คน ให้เป็น "มหาเศรษฐีใจบุญ" ขณะที่อีก 3 คนนั้นเป็นบุรุษ ประกอบไปด้วย บุญชัย เบญจรงคกุล ตัน ภาสกรนที และทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์

สำหรับผู้หญิงเก่งคนนี้ หลายคนอาจรู้จักเธอในนาม "ประธานกรรมการ บริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด" เท่านั้น

ทว่า เธอยังดำรงตำแหน่งอีกหลายตำแหน่ง ทั้งนายกสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานมูลนิธิกองทุนรักษ์ช้าง ประธานกรรมการเลิดสินมูลนิธิ ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อสาธารณกุศล โดยเฉพาะทางด้านการแพทย์และสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์
และตำแหน่งใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเข้ารับหน้าที่หมาดๆ "สมาชิกวุฒิสภา" ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศาสนา คุณธรรม จริยธรรม ศิลปะและวัฒนธรรม วุฒิสภา และกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ

"รู้สึกเป็นเกียรติมากที่ได้รับการคัดเลือกจากฟอร์บส์ให้มีชื่ออยู่ในนั้น" บทสนทนาแรกที่พิไลพรรณบอกกับเรา ในวันที่เรานัดสัมภาษณ์ที่สยามสมาคมฯ ก่อนออกตัวว่า การได้รับการยกย่องนี้ ไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐีเท่านั้น แต่จะเป็นใครก็ได้ ที่มีจิตใจเป็นกุศล

"การเป็นฟีแลนโธรพี (Philanthropy) ไม่ได้แปลว่าการเป็นผู้ใจบุญที่เอาเงินไปให้ใครๆ ฟีแลนโธรพี ถ้าเปิดดิกชันนารี หมายความว่ามีกุศลจิตหรือทำบุญจากใจ ไม่ใช่แค่เอาเงินไปบริจาคที่ไหน แล้วไม่จำเป็นที่ต้องเป็นมหาเศรษฐีเท่านั้น แน่นอน! เงินอาจจะช่วยในการดำเนินชีวิตให้ดีขึ้น ให้มีโอกาสทำอะไรมากกว่าคนอื่น แต่คุณไม่จำเป็นต้องเป็นมหาเศรษฐี แล้วได้รับการยกย่องให้เป็นฟีแลนโธรพิสต์ (ผู้มีจิตเป็นกุศล) ใครๆ ก็สามารถเป็นฟีแลนโธรพิสต์ได้ ด้วยจิตใจที่เป็นกุศล

"ดิฉันดีใจที่ฟอร์บส์ไม่ได้พูดเลยว่า บริจาคเงินเป็นจำนวนกี่บาท แต่บอกว่า ดิฉันทำอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่ดีกับสาธารณประโยชน์ และสาธารณชนมากกว่า"

ในการยกย่องของ "ฟอร์บส์" นิตยสารการเงินที่เก่าแก่และเป็นที่เชื่อถือในระดับนานาชาติ ฟอร์บส์เขียนถึงงานที่พิไลพรรณทำในด้านการ "ดูแลช้าง"

"ดิฉันรักสัตว์เป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว แต่ที่รักช้างก็เพราะได้สัมผัสกับสัตว์ใหญ่ น้ำหนักมาก แต่เขามีจิตใจที่อ่อนโยนและมีอารมณ์อ่อนไหว มีความเฉลียวฉลาดมาก เมื่อเห็นว่าช้างมีปัญหา ก็อยากเข้าไปช่วยเหลือให้มีชีวิตที่ดีขึ้น"

การทำงานของผู้หญิงคนนี้ มีตั้งแต่เข้าไปช่วยเหลือที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย สถาบันคชบาลแห่งชาติ โดยช่วยระดมทุนที่ยังขาดแคลนในการดูแลสุขภาพช้าง และช่วยเหลือในการร่างกฎหมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้าง ตลอดจนการป้องกันการทารุณกรรมสัตว์ นอกจากนี้ยังร่วมมือกับกรุงเทพมหานครแก้ปัญหาช้างเร่ร่อน และล่าสุดนี้ เธอก็ทำ "ฝัน" ที่อยากจะ "สร้างถิ่นที่อยู่ถาวรให้ช้าง" ให้เกิดขึ้นเป็นจริงแล้ว

"ตอนนี้ได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้ใช้พื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทราประมาณ 600 ไร่เศษ เพื่อเป็นที่อยู่ถาวรของช้าง เรียกว่าเป็นบ้านสุดท้ายที่ให้เขาได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีอาหารกินอย่างพอเพียงครบถ้วน แล้วยังทำเรื่องหมอช้างสัญจรให้ไปออกหน่วยตรวจสุขภาพช่วยช้างของชาวบ้าน และพยายามโน้มน้าวเจ้าของช้าง ควาญช้างไม่ให้พาช้างเร่ร่อน เพราะถ้าเขามีคนเข้าไปช่วยหางานต่างๆ ให้ช้างและคนเลี้ยงช้างทำ มันก็จะทำให้เขาไม่พาช้างมาเร่ร่อนในกรุงเทพฯ ไม่มีใครอยากออกจากบ้านหรอก"

อีกเรื่องหนึ่งฟอร์บส์เอ่ยถึง เป็นเรื่องของการ "อนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม" เพราะจากการดำรงตำแหน่ง "นายกสยามสมาคม 2 สมัย" เป็นการการันตีได้ว่า ผู้หญิงคนนี้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก

การทำงานของเธอเป็นการทำงานเชิง "จุดประกาย" ให้ผู้คนได้ตระหนักถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย มากกว่าที่จะทุ่มเงินทองลงไป โดยอนุรักษ์ทั้งวัฒนธรรมที่ "จับต้องได้" และ "จับต้องไม่ได้" และจากการคลุกคลีกับสิ่งเหล่านี้มาตลอด พิไลพรรณบอกว่า

"วัฒนธรรมไทยขณะนี้เละเทะ ทั้งวัฒนธรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ ก็เพราะว่าไม่มีใครทำอะไรจริงจัง ซึ่งอันนี้เกี่ยวเนื่องไปถึงระบบการศึกษา การศึกษาของเราดีพอไหม ในการสอนให้เยาวชนได้ซาบซึ้งในจิตวิญญาณของเรา รากเหง้าและพื้นฐานของเราเอง ของพวกนี้มันอาจจะน่าเบื่อที่จะพูด แต่ถ้าไม่พูด ก็ไม่มีใครทำ"

หลายคนอาจกำลังคิดว่า วัฒนธรรมในความหมายของพิไลพรรณ เป็นอะไรที่ต้องยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ สำหรับเธอ วัฒนธรรมคือสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำวัน

"วัฒนธรรมที่ดี รากเหง้าที่ดีของเรา เรารู้กันอยู่แล้ว แต่เราไม่ใส่ใจ อย่างเช่น ความสุภาพเรียบร้อยก็คือวัฒนธรรม การเจอผู้ใหญ่ให้ไหว้ ก็ถือเป็นวัฒนธรรมที่ดี เป็นสิ่งที่เราได้สอนลูกหลานสืบทอดต่อกันมา นั่นคือสอนวัฒนธรรมไทยที่ดีอยู่แล้ว หรือการรู้กาลเทศะก็คือวัฒนธรรมที่ดี เรื่องง่ายๆที่ทำได้ แค่มีสติคิดเท่านั้นเอง"

การทำงานของเธอ มิใช่เพียง "อนุรักษ์" เท่านั้น หากยัง "เผยแพร่" ให้ต่างชาติได้ชื่นชมด้วย ซึ่งพิไลพรรณบอกว่า การนำวัฒนธรรมไทยไปเผยแพร่สู่สายตานานาชาติ เป็นการเจริญสัมพันธไมตรีอย่างหนึ่ง โดยเธอเรียกว่าเป็นกุศโลบายที่ใช้ "วัฒนธรรมนำการเมือง"

"นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากเรา (สยามสมาคมฯ) ให้ไปช่วยทำงาน ให้วัฒนธรรมนำการเมืองและการทูต เพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่อินเตอร์เนชั่นแนล เป็นสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงโลกทั้งหลายให้มาอยู่รวมกันได้ อยู่ในระบบโกลบอลไลเซชั่น

"เพราะถ้าเราใช้วัฒนธรรมแล้ว เราคุยกันรู้เรื่อง ดั่งคำขวัญของสยามสมาคมฯ ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อครั้งทรงริเริ่มสยามสมาคมฯ เมื่อ 100 ปีที่ผ่านมาว่า วิชชายังให้เกิดมิตรภาพ"
ซึ่งความหมายของคำขวัญดังกล่าว พิไลพรรณขยายความว่า

"เมื่อเราคุยกันด้วยวิชาความรู้ แทนที่จะใช้กระสุน มันก็ทำให้เกิดมิตรภาพ เราไม่ได้เอาวิชาไปต่อยกัน ฉะนั้น วัฒนธรรมเป็นของกลมๆ ที่สามารถกลิ้งได้ทุกแห่ง"

เมื่อเล่าถึงจุดนี้ นายกสยามสมาคมฯ ยกตัวอย่าง จากการที่ได้รับการเชื้อเชิญจากเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทยให้เข้าไป เป็น "ผู้แทน" ประเทศไทยทำงานด้านวัฒนธรรมร่วมกับสเปนใน "คาซ่าเอเซีย" ซึ่งเป็นสถาบันภายใต้การดูแลของ กระทรวงการต่างประเทศสเปน เพื่อเป็นการเจริญสัมพันธไมตรีระหว่าง 2 ประเทศ

"พอเราเซ็นสัญญาด้านวัฒนธรรมกันแล้ว เราก็นำผ้าไทยไปจัดแสดงที่เมืองบาร์เซโลนา เมืองที่เป็นหัวใจของวัฒนธรรมของประเทศสเปน ซึ่งผลตอบรับออกมาดีมาก เขาตื่นเต้นมาก และขอยืดเวลาการจัดนิทรรศการออกไป สิ่งที่เขาสนใจมากที่สุดอย่างหนึ่ง คือ นิทรรศการวิถีชีวิตของเราในอดีต ทั้งความเป็นประเทศไทยประกอบขึ้นด้วยอะไรบ้าง การกิน การอยู่ คำพูดคำจา และงานศิลปะที่มีสุนทรียภาพ"

นี่คือส่วนหนึ่งในการทำงานของพิไลพรรณที่ดูแล้ว "ไม่ง่าย" เลย หากเธอกลับบอกออกมาทันทีว่า

"ไม่ยากอะไรเลย ถ้าเรามีความจริงใจ และตั้งใจทำจริงๆ อย่าไปคิดว่า ทำตรงนี้เพื่อให้ได้อยู่ในฟอร์บส์ หรือเพื่อได้เหรียญได้ตรา หรือเพื่อได้เงินได้ทอง ถ้าคุณเป็นอย่างนั้น คุณก็ทำไม่จริง และเมื่อไหร่ที่ทำไม่ได้ก็เบื่อแล้ว คุณก็จะเลิกทำ"
 
อย่างไรก็ตาม พิไลพรรณบอกว่า แม้จะรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการยกย่องครั้งนี้ หากการทำงานทุกอย่างทำคนเดียวไม่ได้ รางวัลที่ได้รับจึงเป็นรางวัลของทุกคนในทีมงานและเพื่อนฝูงครอบครัว ที่ช่วยกันทำงานเพื่อประเทศชาติ การมุ่งมั่นทำงานเพื่อชาติ เพื่ออนุรักษ์งานศิลปะตลอดจนงานมรดกวัฒนธรรมอันดีงามของไทยเราก็เป็นสิ่งที่ "สตรีนักธุรกิจ" มหาเศรษฐีของเมืองไทยผู้นี้ ตั้งใจจะทำต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ

ขอบคุณ ภาพและข่าวจาก Matichon Online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น